ผู้สนับสนุน
หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการวางแผนการเงินก็คือเรื่องการวางแผนภาษี การวางแผนภาษีเกี่ยวข้องกับคนในทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ผู้ที่มีอาชีพอิสระหรือเจ้าของกิจการ หลายคนละเลยไม่ได้ใส่ใจที่จะวางแผนภาษี คนทำงานมีรายได้ประจำบางคนอาจคิดว่าบริษัทจะหักจากเงินเดือนเราเท่าไหร่ก็ปล่อยให้หักไป เหลือเท่าไหร่ก็เท่านั้น ที่จริงแล้วถ้าเรารู้จักวางแผนภาษีให้ดีจะช่วยแบ่งเบาเงินภาษีที่ต้องจ่ายได้และเราจะมีเงินเหลือไว้ใช้จ่าย เก็บออมหรือลงทุนเพิ่มขึ้นอีก
ลองดูตัวอย่างของคนโสดที่เริ่มทำงานมีเงินเดือน 30,000 บาทกันค่ะ สมมติว่าได้โบนัสเพิ่มอีก 2 เดือน รวมทั้งปีมีเงินได้ 420,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท เหลือ 320,000 บาท หักค่าลดหย่อนของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท เหลือ 260,000 บาท เงินได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท เสียภาษีอัตราแรกอัตราเดียวที่ 5% เท่ากับเสียภาษี 13,000 บาท จะเห็นว่าภาษีที่ต้องจ่ายเท่ากับเงินเดือนของเราครึ่งเดือนเชียวนะคะ
เนื่องจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประเทศเราใช้อยู่เป็นแบบขั้นบันได ก็หมายถึงถ้าเรามีรายได้เพิ่มขึ้น เราก็มีโอกาสที่จะต้องเสียภาษีมากขึ้นด้วย ลองดูตัวอย่างเดิม สมมติอีก 3 ปีต่อมา เงินเดือนเพิ่มเป็น 50,000 บาท โบนัส 2 เดือน และยังโสดอยู่ เมื่อคิดคำนวณหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว จะต้องเสียภาษีต่อปีเป็นเงินสูงถึง 43,000 บาท เกือบเท่าเงินเดือนทั้งเดือนของเราเลย
เมื่อเห็นตัวเลขภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายในแต่ละปีแล้ว ทำให้เห็นว่าการวางแผนภาษีนั้นสำคัญมาก รู้เลยว่าภาษีเงินได้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมองข้ามไปได้ง่าย ๆ เลย บทความเราในวันนี้ มีคำแนะนำในการวางแผนภาษีมาฝากกันค่ะ
- ศึกษาเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ว่ารายได้ประเภทไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี รายละเอียดของการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ เป็นอย่างไร รวมถึงวิธีคิดคำนวณภาษีเงินได้ด้วยตนเองเพื่อให้เราสามารถวางแผนภาษีได้อย่างเหมาะสม
- ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษีเงินได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ของรายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนต่าง ๆ หรืออัตราภาษี อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- เลือกใช้ค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านภาษีสูงที่สุด โดยเลือกซื้อประกันชีวิต กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อนำไปลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีลง
- ศึกษาว่ารายได้บางอย่าง เช่น ดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะนำมารวมคำนวณเป็นรายได้หรือไม่ก็ได้ ระหว่างการนำมารวมแล้วค่อยคิดภาษีหรือการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% กรณีเงินปันผลหรือ 15% กรณีดอกเบี้ยเงินฝาก แบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากัน
- เก็บและรวบรวมเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษีเงินได้ให้ครบถ้วนเพื่อยื่นพร้อมกับแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปี หรือพร้อมสำหรับสรรพากรเรียกตรวจถ้าเป็นการยื่นแบบออนไลน์
เรื่องภาษีเป็นเรื่องสำคัญที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่เราจะต้องศึกษาเรียนรู้ การวางแผนภาษีอย่างเหมาะสมไม่เพียงแต่เป็นการแบ่งเบาภาระของภาษีที่เราต้องจ่ายแต่ละปี แต่จะทำให้เรามีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายหรือนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ด้วย ถึงเวลาที่เราจะต้องหันมาวางแผนภาษีกันอย่างจริงจังกันแล้วค่ะ
***ขอบคุณรูปภาพจาก pixabay.com
ผู้สนับสนุน